กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันที่ 21 กรกฎาคม 2568 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์สร้างกระแส และประกาศนโยบายขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเด็กปฐมวัยและวัยเรียน “Sandbox Model จังหวัดเด็กฟันดี” โดยมี ดร.นายแพทย์ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย ผู้บริหารกรมอนามัย และผู้บริหารจากภาคีเครือข่าย รวมจำนวน 300 คน ร่วมงาน ณ โรงเรียนพญาไท กรุงเทพมหานคร
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพช่องปากที่ดีเป็นรากฐานของสุขภาพองค์รวม โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็ก ถือเป็นช่วงเวลาของการเจริญเติบโต เพื่อเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศ ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งเสริมให้เด็กไทยมีสุขภาพช่องปากที่ดีตั้งแต่แรกเกิดจนโต โดยเฉพาะการป้องกันฟันผุ ซึ่งเป็นปัญหาหลักในเด็กไทยมานาน โดยมีนโยบายและแนวทางในการดำเนินงานเพื่อลดอัตราการเกิดฟันผุในเด็กปฐมวัยและเด็กวัยเรียน ดังนี้ 1) ส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพช่องปากที่เหมาะสมตั้งแต่แรกเกิด 2) เพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมเชิงป้องกันในระบบบริการสุขภาพ และ 3) ส่งเสริมบทบาทครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็ก
“ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด รวมทั้งเครือข่ายวิชาชีพด้านทันตสุขภาพ และภาคเอกชน โดยบริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเด็กปฐมวัยและวัยเรียน เพื่อปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพช่องปากที่เหมาะสม พร้อมทั้งการจัดระบบบริการที่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพช่องปากที่ดีในทุกบริบทของเด็ก โดยจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างกระแส และประกาศนโยบายขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเด็กปฐมวัยและวัยเรียน “Sandbox Model จังหวัดเด็กฟันดี”
เพื่อนำไปสู่สุขภาพช่องปากที่ดีขึ้นของเด็กไทยทุกคน ซึ่งจะเป็นรากฐานอันมั่นคงของสุขภาพกายใจ และคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต”
ดร.นายแพทย์ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาฟันผุในเด็กไทย จากข้อมูลผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ในปี 2566 พบว่า เด็กไทยจำนวนมาก ยังประสบกับปัญหาฟันผุ และเหงือกอักเสบ โดยในเด็กอายุ 3 ปี มีฟันผุ ร้อยละ 47.0 และเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 72.1 ในกลุ่มเด็ก 5 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงวัยสำคัญที่เริ่มเข้าสู่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย นอกจากนี้ ในเด็กอายุ 12 ปี พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งมีปัญหาฟันผุ (ร้อยละ 49.7) และมากกว่าร้อยละ 80 พบกับปัญหาเหงือกอักเสบ ขณะเดียวกัน การเข้าถึงบริการทันตกรรมกลับมีแนวโน้มลดลงอย่างน่าเป็นห่วง ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ การเรียนรู้ และคุณภาพชีวิตของเด็กไทยในระยะยาว
สำหรับการขับเคลื่อน “Sandbox จังหวัดเด็กฟันดี” เป็นกลไกในการยกระดับการดูแลสุขภาพช่องปากและแก้ปัญหาฟันผุของเด็กไทยอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งเสริมทันตสุขภาพในคลินิกเด็กสุขภาพดี สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และโรงเรียน รวมทั้งการจัดบริการทันตกรรมป้องกันเชิงรุก ผ่านสถานบริการสาธารณสุขภาครัฐและเอกชน รถทันตกรรมในเครือข่ายคลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการที่ครอบคลุม โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ เริ่มดำเนินการ ใน 13 จังหวัดนำร่อง ทุกเขตสุขภาพ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ นครนายก เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา กาฬสินธุ์ นครพนม นครราชสีมา ยโสธร พังงา นราธิวาส และกรุงเทพมหานคร