คุณกำลังมองหาอะไร?

รมอนามัย - ไลอ้อน ร่วมแก้ปัญหาสุขภาพช่องปากเด็กไทย คืนรอยยิ้มเด็กไทยสู่สังคม

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

30.06.2568
79
0
แชร์
30
มิถุนายน
2568

          วันนี้ (30 มิถุนายน 2568) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการไลอ้อน - กรมอนามัย เด็กไทยฟันดี ภายใต้โครงการพัฒนาวิชาการและโมเดลส่งเสริมสุขภาพช่องปาก : Sandbox จังหวัดเด็กฟันดี มุ่งสู่เป้าหมาย “เด็กไทยฟันดี ไม่มีฟันผุ” พร้อมทั้งปล่อยรถทันตกรรมเคลื่อนที่ Lion Smile Express โดยมีแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย คุณชาติ จันทร์วิจิตร ประธานกรรมการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ดร. นายแพทย์ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย และคุณสายพิณประจงพงศ์พันธุ์ กรรมการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ณ Kingsbridge Hall อาคารคิงบริดจ์ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร

          แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยในฐานะหน่วยงานวิชาการหลักของกระทรวงสาธารณสุข มีบทบาทสำคัญในการอภิบาลระบบส่งเสริมสุขภาพและสุขภาพช่องปากของประเทศ โดยการผนึกกำลังกับภาคเอกชนอย่างบริษัท ไลอ้อนฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาวิชาการด้านสุขภาพช่องปากอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับภารกิจของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในการส่งเสริมสุขภาพของเด็กและคนไทย ซึ่งจากสถานการณ์สุขภาพช่องปากของเด็กไทย ในปี 2566 พบว่า เด็กอายุ 3 ปี ร้อยละ 47.0 มีฟันผุ และพุ่งสูงถึงร้อยละ 72.1
ในกลุ่มเด็ก 5 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยสำคัญที่เริ่มเข้าสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นอกจากนี้ เด็กอายุ 12 ปี ร้อยละ 49.3 ยังพบฟันผุ และกว่าร้อยละ 80 ต้องเผชิญปัญหาเหงือกอักเสบที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น สวนทางกับการเข้าถึงบริการทันตกรรมที่มีแนวโน้มลดลงอย่างน่าเป็นห่วง โดยโครงการไลอ้อน - กรมอนามัย เด็กไทยฟันดี ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการพัฒนาวิชาการและโมเดลส่งเสริมสุขภาพช่องปาก : Sandbox จังหวัดเด็กฟันดี ถือเป็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่สะท้อนถึงเจตนารมณ์ร่วมกัน ในการยกระดับสุขภาพช่องปากของเด็กไทย เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาวิชาการผ่านความร่วมมือแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชน

          ดร.นายแพทย์ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเสริมว่า โครงการSandbox จังหวัดเด็กฟันดี เป็นการสร้างเครือข่ายและกลไกการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในกลุ่มเด็กอย่างเป็นระบบ ได้แก่ การฝึกทักษะคุณพ่อคุณแม่ให้แปรงฟันลูกอย่างถูกวิธีในคลินิกเด็กสุขภาพดี ปลูกฝังนิสัยรักการแปรงฟันในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและโรงเรียนประถมศึกษา เริ่มต้นใน 13 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ นครนายก เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา กาฬสินธุ์ นครพนม นครราชสีมา ยโสธร พังงา นราธิวาส และกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เด็กไทยทั่วประเทศมีสุขภาพช่องปากที่ดี รวมทั้ง ขยายผลโมเดลสุขภาพช่องปากทุกกลุ่มวัย โดยส่งรถทันตกรรมเคลื่อนที่บุกถึงชุมชน ให้ประชาชนเข้าถึงบริการทันตกรรมได้ง่ายขึ้น เพื่อสร้างรากฐานสุขภาพที่ดีจากรอยยิ้มที่สดใสของเด็กๆ
เพื่อรอยยิ้มและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยทุกคน

          ทันตแพทย์ดำรง ธำรงเลาหะพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาฟันผุในเด็กไทยนั้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม อาทิ ฟันผุจะมีอาการปวดและไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ดี ทำให้กินอาหารได้น้อยลง เสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหาร การเจริญเติบโตล่าช้า นอกจากนี้ ฟันผุทำให้เด็กขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่กล้ายิ้ม หรือพูดในที่สาธารณะ การปวดฟันบ่อยครั้งส่งผลให้เด็กขาดเรียน สมาธิสั้นและมีผลการเรียนที่ต่ำลง ค่าใช้จ่ายในการรักษาทางทันตกรรมที่เพิ่มขึ้น สร้างภาระให้ครอบครัว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทางภาครัฐได้เร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ และยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้กระจายเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น

          คุณชาติ จันทร์วิจิตร ประธานกรรมการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไลอ้อน ประเทศไทย มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือครั้งนี้ โดยร่วมมือกับกรมอนามัย ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมด้านสุขภาพของประชาชนไทย นับเป็นก้าวสำคัญในการรวมพลังระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมาย "เด็กไทยฟันดี ไม่มีฟันผุ"

          ทั้งนี้ นอกจากการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “ไลอ้อน - กรมอนามัย เด็กไทยฟันดี” แล้ว ยังเปิดตัว โครงการ LION Smile Express เป็นโครงการที่จัดรถทันตกรรมเคลื่อนที่ให้บริการตรวจฟัน เคลือบฟลูออไรด์ อุดฟัน ขูดหินปูน ออกให้บริการตามแหล่งชุมชน โรงเรียน ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยเน้นไปที่กลุ่มเสี่ยงหรือผู้ด้อยโอกาสที่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจ การดูแล และรักษาปัญหาในช่องปากได้ อาทิ กลุ่มเด็กเล็กในโรงเรียน กลุ่มเด็กด้อยโอกาส  ผู้สูงอายุ  ชาวบ้านในชุมชนแออัด โดยมีแผนจะออกให้บริการควบคู่กับ โครงการ Sandboxจังหวัดเด็กฟันดี เพื่อสร้างสังคมแห่งสุขภาพช่องปากที่ดีให้กับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน